วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2552

ของขวัญจากเชียงราย




บางช่วงเวลา...ณ เชียงราย...

" ไม่ยัดเยียด ตัวตนของเราให้คนอื่น "
" ดูแลพลังชีวิต โอบอุ้มชีวิต แบ่งปันเรื่องราว "
" ละทิ้งความดูดี เผยตัวตน "
" ละเลง ตัวตน "
" การยอมรับ "
" ดี หาย ขุ่นมัว ดีหาย คิด พูด เขียน "
" อืดๆ สบายๆ "
" ยอมรับกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างเต็มที่ "
" พันธนาการ "

หนึ่งวันหนึ่งคืน หนึ่ง ในเชียงราย อากาศไม่ค่อยหนาวมากแต่เย็นกำลังสบาย ช่างเป็นเช้าที่สดใส ต่างจากความขุ่นมัวเมื่อวันวาน
ความขุ่นมัวที่เกิดจากความต้องการการยอมรับบวกับตัวจี๊ดที่คอยก่อกวนอยู่ตลอด เพราะเจ้าอัตตา ตัวตน นั้น ไม่พอใจที่จะให้ใครมา
ออกคำสั่งเหมือนดั่งว่าเจ้านั้นอ่อนแอเสียนี่กระไร

ความทุกข์เกิดที่เรา (ใจ) และดับที่เรา (ใจ) ช่างเป็นพันธนาการอันแน่นหนาแห่งความอิจฉา ความอยาก อัตตาตัวตนที่ใหญ่ ทำให้จิต
อันเป็นสมุหะอันหลับใหลถูกปิดกั้นมิให้ตื่นจากภวังค์แห่งความฝัน

" เขาผู้นั้นมิได้มีความผิดใด หากแล้วไซร้ทุกการกระทำย่อมมีที่มา "
" อย่าโทษคนอื่น ให้ย้อนกลับมาดูใจของเราเอง " อ.ระพี สาคริก มักสอนเรื่องนี้อยู่เสมอ

เรื่องราวที่หลายๆ คนในวงสนทนาแบ่งปัน อาจไปทับซ้อนกับเรื่องราวของอีกหลายๆ คน เหมือนโลกของเราที่ทับซ้อนอยู่กับโลกของ
คนอื่น และอยู่ในโลกของพวกเรา

เหมือนตะเกียงสิบดวงที่สาดส่องอยู่ในห้อง เราิมิอาจรู้ได้ว่าแสงที่ส่องไปกลางห้องนั้นเป็นของตะเกียงดวงใด เพราะในโลกของจิตวิญญาณ ความเป็นปัจเจกนั้นไม่มี

เมื่อเชื่อมโยงอัตตาก็ลดลง ความเป็นปัจเจกนั้นไม่มี เรื่องราวที่จี๊ดก็กลับกลาย ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความอ่อนโยน แต่เรื่องราวที่เกิด
ย่อมมีดับ เป็นตถตา

" การดูแลและทำให้อนาคตของเราปรากฏ "
" คนแกะไม้ "
" การดูแลร่างกายและจิตใจ "

...เรื่องราวยังคงดำเนินต่อไป... บนเส้นทางแห่งการฝึกตน...

วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2552

วินาทีอันแสนวิเศษกับความปีติและเสียงหัวเราะของหัวใจ




.........ว้าววววว หัวใจมันเต้นตึกๆ ระรัว ดังสนั่นหวั่นไหวอยู่กลางอก ท่ามกลางความปีติ ณ วินาทีนี้ เต้นตูมตามจนแทบจะล้นออกมาข้างนอก ไม่เคยรู้สึกดีใจอย่างนี้มาก่อนเลย...
....ดีใจที่นิ้วทั้งห้ายังคงรับรู้สัมผัสของแป้นคีบอร์ด
....ดีใจที่รับรู้ได้ถึงลมหายใจเข้าออก
....ดีใจที่ก้นนั่งรับน้ำหนักตัวอยู่บนเก้าอี้
.... ดีใจที่แขนและหัวไหล่รู้สึกเมื่อยเวลายกเพื่อพิมพ์
.... ดีใจที่ตายังคงมองเห็น..เรื่องราวต่างๆ บนจอคอมพิวเตอร์ เรื่องราวต่างๆ ภายในห้องของเรา และข้างนอกนั่น
....ดีใจที่ได้หัวเราะเสียงดังลั่นอยู่คนเดียวในห้อง ทำให้รู้ว่าเสียงเรายังดีอยู่
.... ดีใจที่ผิวกายรับรู้ ความหนาวเล็กน้อย เพราะพัดลมที่กำลังทำงานอยู่ข้างเก้าอี้
....ดีใจที่หูได้ยินเสียงนกร้อง หมาเห่า เสียงรถ เสียงเด็ก เสียงพัดลม เสียงสายลมแผ่วเบา
...ดีใจที่ยังกลืนน้ำลายได้อยู่...
ไม่เคยรู้สึกดีใจที่ได้สูดหายใจลึกๆ ยาวๆ เต็มปอด อย่างนี้มาก่อนเลย...
ภาพเดิมๆ ห้องเดิมๆ โต๊ะตัวเดิม คอมตัวเดิม แต่ทำไม วินาทีนี้ช่างดูแปลกตา ใหม่ ดีใจที่มันยังอยู่ตรงนี้...


...ดีใจจริงๆ ....ดีใจที่รู้ว่าตัวเองดีใจได้ขนาดนี้...55555 มีความสุขจริงๆ

อดีตไม่มีอยู่จริง... อนาคตนั้นไร้ตัวตน....สิ่งที่เป็นอยู่และมีอยู่จริง ณ วินาทีนี้แหละ ปัจจุบันขณะอันเป็นนิรันดร์...

...ขอบคุณพ่อแม่ที่ทำให้ฉันเกิดมา..
...ขอบคุณทุกคนที่เลี้ยงดูฉันมา
...ขอบคุณครูบาอาจารย์ที่สั่งสอน
...ขอบคุณครูผู้เปลี่ยนชีวิต
...ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่าน
..ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ร่วมเดินทางกับฉัน และทำให้ฉันได้มาอยู่ตรงนี้
...ขอบคุณเพื่อนของฉัน ที่บล๊อกของเขา ทำให้ฉันได้เขียนสิ่งนี้ขึ้นมา..

ขอบคุณ....ฉัน... ที่ดำรงอยู่มาถึงตรงนี้ได้...คงเหนื่อยกันมากเลยซินะ...ขอบคุณจริงๆ...

วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552

สติและสันติ




หาก เราลองเข้าไปนั่งในร้านกาแฟ ร้านน้ำชา หรือ สภากาแฟ ที่แล้วแต่ว่าใครจะเรียกอย่างไรนั้น หัวข้อในวงสนทนาหลักๆ ในแต่ละวัน ณ ช่วงเวลานี้คงหนีไม่พ้น วิกฤติต่างๆ ที่เรากำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ทั้งวิกฤติทางการเมือง และวิกฤติทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ทำให้ชวนปวดหัวกันได้ทุกวี่วัน และแต่ละคนก็คงจะหลีกเลี่ยงมันไม่ได้ มีแต่จะต้องเดินหน้าเข้าหาและเตรียมรับมือเท่านั้น

ปัญหา ความขัดแย้งที่กำลังร้อนระอุอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเกิดมาจากคนๆ เดียวตามที่ฝ่ายหนึ่งอ้างถึง หรือเกิดมาจากคนเพียงไม่กี่คนดังที่อีกฝ่ายตอบโต้ ล้วนเป็นความขัดแย้งที่สร้างความทุกข์ระทมให้กับคนในสังคมไม่น้อย นับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อยุติได้อย่างไร เป็นความขัดแย้งที่ไม่เพียงอยู่บนเวทีทำเนียบรัฐบาลหรือเวทีสนามหลวงเท่า นั้น แต่ก็เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหงของสังคมไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม ซึ่งก็คือ ครอบครัว ลุงกับป้า พ่อกับแม่ อากับน้า ที่กำลังก่นด่าใส่กันเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน โดยมีลูกหลานซึ่งเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่ไม่รู้ประสา กำลังร้องไห้เพราะความตกใจโดยที่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ภัยเงียบที่กำลังคุกคามอนาคตของชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนผ้าขาวที่พร้อมจะเปรอะเปื้อนจากสิ่งต่างๆ ได้ทุกเมื่อ กำลังถูกแต่งแต้มอย่างดุดันด้วยพฤติกรรมก้าวร้าวและใช้ความรุนแรง ทั้งท่าทีและถ้อยคำ ได้ถูกซึมซับและจดจำผ่านสมองน้อยๆ ของเจ้าตัวโดยที่ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่รับมานั้นดีหรือไม่ดีแต่อย่างใด แววตาแห่งความไร้เดียงสากำลังจะถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นแววตาของสัตว์ร้าย ที่พร้อมจะขย้ำศัตรูของมันได้ทุกเมื่อ การกระทำที่เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบของโทสะและความลุ่มหลงถึงชัยชนะกำลังกัด กร่อน ทำลาย ชะตากรรมของชาติ ที่ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นสังคมแห่งความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย สังคมของการเอาชนะ ไม่ยอมกัน สังคมที่มีอัตตาอันคับแคบ สังคมแห่งตัวกู ของกู ยึดถือตัวตนเป็นสำคัญ

การหันหน้าเข้าหากัน และ “ ฟัง ” กันบ้าง น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความขัดแย้งลงได้บ้าง หรือที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ “ สานเสวนา ”

วลีว่า "สานเสวนา" หรือ "ศานติ์เสวนา" นี้เป็นคำไพเราะ ที่หมายถึง

กระบวน การกลุ่มในการจัดการกับความขัดแย้งที่อาศัยบุคคลที่สามช่วยทำหน้าที่อำนวย การให้เกิดการพูดคุยสนทนากันระหว่างกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ความ ขัดแย้งที่มีความตึงเครียดทางอารมณ์เป็นส่วนประกอบใหญ่โดยมุ่งเน้นที่จะลด อคติอันเกิดจากผลของความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้เข้าร่วมกระบวนการ

(ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล 2547,23)

สานเสวนาเป็นคำที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า dialogue เดวิด โบห์ม1 (David Bohm) อธิบายว่าเป็นคำที่มาจากภาษาละติน dia+logos dia = ผ่าน (through) logos=คำพูด / ความหมาย (the word) logos ใน ที่นี้ หมายถึง "ความหมายของคำ "(the meaning of the word) เดวิด โบห์ม เปรียบว่า dialogue ให้ความหมายของคำที่ผ่านหรืออยู่ท่ามกลางคนหลาย ๆ คนนี้ เปรียบเหมือนภาพของ "แม่น้ำของความหมายที่ไหลไปล้อมรอบและผ่านสมาชิกและผู้ร่วมอยู่" (ในการสานเสวนา) นั้น (Bohm 1991,http://www.muc.de/~heuvel/dialogue/dialogue proposed_html) จากความหมายของ Dialogue ดังกล่าวนี้ ถ้านำมาใช้กับสถานการณ์ความขัดแย้งในขณะนี้ เรา จะเห็นภาพของ การเปิดพื้นที่ให้บุคคลต่าง ๆ ได้มีความสัมพันธ์ใหม่ในการฟังและพูดและมีวิธีที่จะสำรวจรากเหง้าของ เงื่อนไขปัจจัยของวิกฤตกาลความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นนั้น เป็นโอกาสให้บุคคลหลายฝ่ายได้มีโอกาสเปิดใจ พูดคุย แสดงความรู้สึก ตั้งคำถาม ตั้งความปรารถนา สังเกต และเรียนรู้ปรากฏการณ์เพื่อค้นหา "ความหมาย" ร่วมกัน ความหมายนั้น อาจนำไปสู่ความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาได้

หัวใจสำคัญของกระบวนการสานเสวนาตามทฤษฎีของเดวิด โบห์ม คือ การเปิดโอกาสให้มีการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) เป็นการฟังเพื่อเข้าใจความหมาย การสานเสวนาตามทฤษฎีของโบห์มนี้เป็นความกระหายอยากรู้เรื่องอย่างใจจดใจ จ่อ (suspension) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ "ความตั้งใจฟัง" (attention and listening) ในการสำรวจหาความหมายของผู้พูด เป็นความคิดที่ว่า ถ้าผู้พูด มีความตั้งใจที่กล่าวถึงสิ่งใด สิ่งหนึ่งด้วยอารมณ์ความรู้สึก พร้อม ๆ กับเสนอความคิดอันใดอันหนึ่ง และผู้พูดยังคงรักษาความตั้งใจ ในการกล่าวถึงสิ่งนั้นต่อไป กระบวนการของความคิดจะดำเนินไปได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น นั่นคือ ทั้งผู้พูดจะสามารถเข้าใจความหมายของสิ่งที่ตนพูด และผู้ฟังอาจเข้าใจสิ่งที่ตนได้ยิน อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

กระบวนการสานเสวนาไม่เหมือนกับการเจรจา เป็นกระบวนการที่อาศัยการฟังโดย “ ห้อยแขวนคำพิพากษา ” เป็นการไม่ด่วนตัวสินสิ่งที่ได้รับรู้ ด้วยความคิด ความเชื่อ หรือความรู้สึกของตน จนเบียดบังและมิได้รับฟังสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อออกมาอย่างครบถ้วน ลองคิดดูนะครับว่า หากเราต้องฟังคนที่เราเกลียดมากที่สุด เราจะรับรู้สิ่งที่เขาพยายามบอกได้สักกี่เปอร์เซนต์ หรือสิ่งที่เราได้รับรู้เป็นส่วนใหญ่นั้นเป็นเสียงที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา เองที่กำลังผรุสวาทด้วยอำนาจแห่งความเกลียดชัง

จะเห็นได้ว่ากระบวนการนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออย่างหนึ่งที่สำคัญมากเป็นตัวช่วย นั่นก็คือ “ สติ ” ทั้ง ผู้พูดและผู้ฟังจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำรงอยู่ด้วยความมีสติ เพราะหากเราขาดสติ ก็จะถูกเจ้าตัวกิเลสครอบงำทันที ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความรัก ความชื่นชม ศรัทธา หากการพูดหรือการฟังของเราดำรงอยู่บนฐานของสิ่งเหล่านี้ แน่นอนครับว่าข้อมูลที่ได้รับนั้น ย่อมเป็นข้อมูลที่มาจากใจของเราเป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้ผ่านการไตร่ตรองด้วยใจที่ใคร่ครวญเลย ตัวอย่างเช่น หากเราฟังคนที่เราศรัทธาและชื่นชมมากๆ ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะพูดอะไร หากเราขาดสติในการฟัง ไม่ว่าข้อมูลจะเป็นจริงหรือไม่ เราก็จะเชื่อข้อมูลเหล่านั้นทันทีโดยไม่มีข้อกังขา ในทางกลับกันหากเรากำลังฟังคนที่เราเกลียด ชิงชัง ไม่ว่าเขาผู้นั่นจะสื่อสารอะไรออกมา เราก็จะปิดหูปิดตา ไม่มีทางที่จะเชื่อคำพูดของเขาเหล่านั้น แม้ว่าข้อมูลจะเป็นความจริงก็ตาม จะเห็นได้ว่า “ การฟังด้วยใจที่เป็นกลาง ” มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ ณ ปัจจุบันนี้

กระบวน การเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นจะต้องใช้เวลา และความร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย ความขัดแย้งและความรุนแรงมิอาจลดลงได้ หากได้รับความร่วมมือแต่เพียงฝ่ายเดียว แน่นอนว่าผมเห็นด้วยกับการคัดค้านการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ และสร้างความทุกข์ให้กับคนไทย การนำผู้กระทำผิดมารับบทลงโทษตามกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์และไม่ถูกแทรกแซงเป็น เรื่องที่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง การชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และต้องดำรงอยู่บนหลักการอหิงสาอย่างแท้จริงโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นอีกเหมือนดังเช่นใน อดีต เพราะผลที่ได้รับมีแต่ความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด เขาเหล่านั้นก็เป็นพี่น้องคนไทยด้วยกัน เป็นเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมโลกใบเดียวกัน มีอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ ในตัวมนุษย์เรามีทั้งความเป็นเทวดาและสัตว์ร้าย เราไม่รู้ว่าสัตว์ร้ายมันจะออกมาเมื่อไร สิ่งหนึ่งที่เราสามารถกำหนดการแสดงออกอย่างเทวดาได้ก็คือ สติ ” ผมอยากให้ทุกฝ่ายและทุกคนดำรงอยู่ด้วยความมีสติให้มั่นไม่ว่าสถานการณ์มันจะ บีบคั้นเพียงใดก็ตาม สติสามารถที่จะช่วยเราได้เสมอ เพื่อเห็นแก่คนเฒ่าคนแก่ ลูกเด็กเล็กแดง ที่อดตาหลับขับตานอน เพื่ออุดมการณ์และความเชื่อของพวกเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ใด ฝ่ายใด และเห็นแก่ชะตากรรมของชาติไทยที่อยู่บนกำมือของพวกเราทุกคน

สุดท้ายนี้ผมขออนุญาตอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ในบางส่วนที่ว่า

"...ฉะนั้นก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่าน คือพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่า บ้าเลือด เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง

ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้ากัน แต่หันเข้าหากัน และสองท่าน เท่า กับเป็นผู้แทนฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร สำหรับให้ประเทศไทย ได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาได้ด้วยดี อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา..."

ขอจงมีสติและสันติในทุกหย่อมหญ้า
จิตวิญญาณทัศนาจ

เทวดาหรือปีศาจ




" มนุษย์เรานั้นเป็นทั้งเทวดาและปีศาจร้าย ในตัวเดียวกัน " คำกล่าวนี้ตราตรึงใจผมยิ่งนัก เมื่อได้ยินครั้งแรกจาก อ.ประสาน ต่างใจ
บรมครูทางด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ

ใน ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มนุษย์ได้รังสรรค์ผลงานความคิด ศิลปะ วัฒนธรรมอันทรงคุณค่าไว้มากมาย แต่ในทางกลับกัน ก็ได้ฝากผลงานอันชั่วร้ายที่มาพร้อมกับการทำลายล้างอีกนับไม่ถ้วน..

ปราชญ์ หลายท่านเคยกล่าวไว้ว่า ในตัวมนุษย์เรานั้น มีเมล็ดพันธุ์อยู่มากมายหลายชนิด เมล็ดพันธุ์แห่งความเสียสละ เมล็ดพันธุ์แห่งความเห็นแก่ตัว เมล็ดพันธุ์แห่งความกล้า เมล็ดพันธุ์แห่งความกลัว เมล็ดพันธุ์แห่งความรัก เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชัง เมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะแสดงบทบาทของมัน ออกดอกออกผลเมื่อเราหมั่นรดน้ำให้กับมันทุกวี่วัน และทุกวันนี้เมล็ดพันธุ์ด้านมืดได้ถูกรดน้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใส่ปุ๋ยชนิดพิเศษนานาชนิด เร่งให้โตวันโตคืน ผ่านสื่อต่าง ระบบการศึกษา ครอบครัว โรงเรียน และสังคม ดอกผลของมันก็เป็นที่ชินตากันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่มีแต่การแก่งแย่งแข่งขัน การยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ความเห็นแก่ตัว ความหลงใหลในวัตถุนิยม ความยากจน และอีกหลากหลายปัญญหานับไม่ถ้วน....

ผมไม่ได้กล่าวโทษและเกลียดชังสังคมทุกวันนี้ แต่กลับเห็นใจ ผมเห็นแววตาของความหวาดกลัวซ่อนอยู่ภายใต้ใบหน้าของคนเหล่านี้
" ความกลัว " หนึ่งในเมล็ดพันธุ์ที่อวบอิ่ม โตเร็ว และพร้อมจะระเบิดและออกดอกออกผลได้ทุกเมื่อและเร็วกว่าที่ใครจะคาดเดาได้
คน เราส่วนใหญ่ทุกวันนี้ดำรงชีวิตด้วยความกลัว ขับเคลื่อนร่างกาย ความคิด ด้วยความรู้สึกกลัว หลายคนกลัวความไม่มั่นคง หลายคนกลัวอนาคต หลายคนกลัวอดีต อีกหลายๆ คนกลัวสิ่งที่ตนไม่รู้ว่ามันคืออะไร

ทำไมเด็กหรือหลายๆ คนถึงกลัวความมืด ? เพราะเวลาที่เรามองไม่เห็นอะไรเลยนั้น เราไม่มีทางรู้เลยว่ารอบข้างเรานั้นมีอะไรที่เป็นอันตราย และกำลังจะคุกคามเราบ้าง ลองจินตนาการหากคุณต้องอยู่ในห้องที่ไม่รู้จักและมืดมิด สัก 24 ช.ม. คุณจะรู้สึกอย่างไร บางคนอาจอยู่ไม่ได้เลยแม้แต่วินาทีเดียว

ดอกผล ของความกลัวนั้นมีมากมายให้เราเห็นในสังคมทุกวันนี้ คนที่กลัวความไม่มั่นคงทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองรู้สึกว่าชีวิตนั้นมั่นคง โดยไม่รู้เลยว่า ความมั่นคงเป็นเพียงภาพมายา เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง เขามีชีวิตอยู่เพื่อต้องการไขว่คว้าหาลาภยศ เงินทอง ชื่อเสียง การงานที่ดีมีฐานะ มั่นคง การเงินที่ร่ำรวย โลกของทุนนิยมสอนให้เรารู้ว่า " เงิน " คือตัวชี้วัดความมั่นคง ทุกคนจึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่ง " เงิน " แรงขับเคลื่อนนี้มหาศาลยิ่งนัก ทำให้คนกลายเป็นปีศาจที่ฆ่าได้แม้กระทั่งพ่อแม่ หรือลูก ของตัวเอง

พระ อาจารย์ไพศาล วิสาโล เคยกล่าวไว้ว่า คนเราแสวงหาความมั่นคงเพราะคนเรานั้นกลัวตาย จึงแสวงหาอะไรก็ตามที่ทำให้ตนเองรู้สึกว่าไม่ตาย หรือเป็นอมตะ และจะคงอยู่ตลอดไป คนเราจึงพยายามดิ้นรน สู้กับความตายมาเนิ่นนาน

หลาย คนคงเคยได้ยิน " เมื่อคนเราใกล้ตาย ธาตุแท้ของคนๆ นั้นจะปรากฏออกมา " สัญชาตญาณของการเอาตัวรอด ซึ่งมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด จะควบคุมร่างกายและจิตใจ ให้กลายร่างเป็นปีศาจร้ายที่พร้อมจะขย้ำทุกชีวิตเพื่อให้ตนเองอยู่รอด

ลอง จินตนาการว่า หากเรื่องราวในหนังภัยพิบัติ มนุษย์ต่างดาวบุกโลก อาชญากรชั่วร้ายครองเมือง ทั้งหลาย เกิดขึ้นจริงใกล้บ้านคุณ ในเมืองที่คุณอาศัยอยู่ จะเกิดอะไรขึ้น ?

คุณจะทำอย่างไร หากน้ำเหนือทะลัก น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ระบบประปาล่มเพราะน้ำท่วมสูงกว่าคลองประปา ระบบไฟฟ้าไม่ทำงาน การจราจรใช้การไม่ได้ ธนาคารปิด ร้านค้า ห้าง ร้านอาหาร ไม่มีที่ไหนที่คุณจะพึ่งพาได้ มีที่เดียวที่คุณยืนอยู่อาจโด่ดเดี่ยว หรือท่ามกลางญาติพี่น้อง ครอบครัว หรือคนที่เราไม่รู้จัก อาจเป็นที่ไหนซักแห่ง ดาดฟ้าตึกใบหยก สถานีบีทีเอส ลานจอดรถพารากอน หรือหลังคาบ้านของคุณ

สิ่งเดียวที่ผมรู้ เชื่อมั่นและศรัทธา ตอนนี้ ที่จะช่วยเราได้คือ " สติ " มันไม่ได้ใช่แค่การขับรถด้วยความไม่ประมาท หรือรู้ว่าตอนนี้ำกำลังโกรธอยู่ แต่มันจะเป็นสิ่งหนึ่งที่นำมาซึ่ง " ความกล้าหาญ " ที่จะดำรงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้าย และ " ปัญญา " ที่ทำให้เรารับมือกับสถานการณ์นั้นได้

ภัยพิบัติที่น่ากลัวที่สุด ไม่ใช่ อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ สึนามิ แผ่นดินไหว สตอร์มเซิร์ส น้ำท่วม หรือความหิวโหย แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าทั้งหมดนี้ คือ " ความกลัวของมนุษย์ "

คุณเลือกได้ว่าคุณจะเป็นเทวดาที่คอยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์หรือปีศาจร้ายที่คอยทำลายล้างทุกสิ่ง

จงตื่นเถิด นักรบแห่งชัมบาลาทั้งหลาย....

วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2551

แบ่งปันเรื่องราว ของขวัญสำหรับโลกใบนี้

วันนี้ได้ไปนั่งไดอะล๊อกกับพี่อ๊บและพี่โอมที่ร้านกาแฟวาวี
นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้กลับมาแบ่งปันเรื่องราวให้กับทุกๆ สิ่ง
คงไม่มีเหตุบังเอิญที่ทำให้เราได้เจอกัน
และคงมีเหตุปัจจัยอะไรซักอย่างที่ทำให้เราได้พบกัน
เรื่องราวนั้นเกิดขึ้น หลังจากตัดสินใจนั่งแท๊กซี่จากศาลายาโดยมีจุดหมายที่ซอยอารีย์
เพียงเพื่อพบกับคนๆ หนึ่ง และหลายๆ คน กับความคาดหวังเกี่ยวกับเรืี่องราวของ " กระบวนกร "
ได้พบผู้ร่วมเดินทางในเส้นทางสายนี้ สองคน ผู้ร่วมหยุดพักพร้อมกัน ที่โอเอซิสวาวี
สามคนกับสุนทรียสนทนา
ก่อเกิดเรื่องราว
หนึ่งคนตั้งคำถาม " กระบวนกร " นั้น ทำงานอย่างไร มีรายได้เพียงใด พอเลี้ยงชีพรึมั้ย
คำตอบเหมือนมิใช่คำตอบ แต่เป็นการตอบด้วยคำถาม " แล้วคุณต้องการเท่าไร ? "
เรื่องราวที่ได้แบ่งปัน ถึงกระบวนกรที่เคยคลุกคลี ก็ได้ตั้งแต่สี่หลักถึงหกหลัก
สิ่งทีได้มิใช่เงินเดือน อาจขึ้นอยู่กับ Demand & Supply บ้าง แต่มิใช่ทั้งหมด
หากพ้นไปจากกรอบเดิมๆ การตัดสินแบบเดิมๆ ด้วยปัจจัยแวดล้อม แล้วนำมาชั่งน้ำหนัก
สิ่งที่ได้ก็เป็นแบบหนึ่ง หากพ้นไปจากเหตุผล ใช้ความรู้สึกเข้าอธิบายหรือไม่ต้องอธิบาย
เพียงแค่รู้สึก ก็พบว่า " กระบวนกรนั้นไม่อดตาย "
ผลงานรังสรรค์ออกมาจากใจ ตัวชี้วัดมิใช่เงินตราแต่มันมีค่ามากกว่านั้น ซึ่งต้องค้นหาต่อไป
บางทีอาจเป็นคำตอบเดียวกับคำถามที่ว่า " ทำไมเราถึงอยากเป็นกระบวนกร "
" กระบวนกรมีรายได้เท่าไร ? " คำถามนี้อาจไม่ต้องถามใคร
แต่กลับมาถามตัวเรา
" แล้วเราต้องการเท่าไรหล่ะ ? "
ฟังดูเหมือนเพ้อฝัน เลื่อนลอย นามธรรม อุดมคติ ความคิด ไม่มีจริง
ไม่มีเหตุผลมาอธิบาย เพียงแค่รู้สึก
เพียงแค่...รู้สึก...จริงๆ