วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552
สติและสันติ
หาก เราลองเข้าไปนั่งในร้านกาแฟ ร้านน้ำชา หรือ สภากาแฟ ที่แล้วแต่ว่าใครจะเรียกอย่างไรนั้น หัวข้อในวงสนทนาหลักๆ ในแต่ละวัน ณ ช่วงเวลานี้คงหนีไม่พ้น วิกฤติต่างๆ ที่เรากำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ทั้งวิกฤติทางการเมือง และวิกฤติทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ทำให้ชวนปวดหัวกันได้ทุกวี่วัน และแต่ละคนก็คงจะหลีกเลี่ยงมันไม่ได้ มีแต่จะต้องเดินหน้าเข้าหาและเตรียมรับมือเท่านั้น
ปัญหา ความขัดแย้งที่กำลังร้อนระอุอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเกิดมาจากคนๆ เดียวตามที่ฝ่ายหนึ่งอ้างถึง หรือเกิดมาจากคนเพียงไม่กี่คนดังที่อีกฝ่ายตอบโต้ ล้วนเป็นความขัดแย้งที่สร้างความทุกข์ระทมให้กับคนในสังคมไม่น้อย นับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อยุติได้อย่างไร เป็นความขัดแย้งที่ไม่เพียงอยู่บนเวทีทำเนียบรัฐบาลหรือเวทีสนามหลวงเท่า นั้น แต่ก็เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหงของสังคมไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม ซึ่งก็คือ ครอบครัว ลุงกับป้า พ่อกับแม่ อากับน้า ที่กำลังก่นด่าใส่กันเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน โดยมีลูกหลานซึ่งเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่ไม่รู้ประสา กำลังร้องไห้เพราะความตกใจโดยที่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ภัยเงียบที่กำลังคุกคามอนาคตของชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนผ้าขาวที่พร้อมจะเปรอะเปื้อนจากสิ่งต่างๆ ได้ทุกเมื่อ กำลังถูกแต่งแต้มอย่างดุดันด้วยพฤติกรรมก้าวร้าวและใช้ความรุนแรง ทั้งท่าทีและถ้อยคำ ได้ถูกซึมซับและจดจำผ่านสมองน้อยๆ ของเจ้าตัวโดยที่ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่รับมานั้นดีหรือไม่ดีแต่อย่างใด แววตาแห่งความไร้เดียงสากำลังจะถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นแววตาของสัตว์ร้าย ที่พร้อมจะขย้ำศัตรูของมันได้ทุกเมื่อ การกระทำที่เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบของโทสะและความลุ่มหลงถึงชัยชนะกำลังกัด กร่อน ทำลาย ชะตากรรมของชาติ ที่ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นสังคมแห่งความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย สังคมของการเอาชนะ ไม่ยอมกัน สังคมที่มีอัตตาอันคับแคบ สังคมแห่งตัวกู ของกู ยึดถือตัวตนเป็นสำคัญ
การหันหน้าเข้าหากัน และ “ ฟัง ” กันบ้าง น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความขัดแย้งลงได้บ้าง หรือที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ “ สานเสวนา ”
วลีว่า "สานเสวนา" หรือ "ศานติ์เสวนา" นี้เป็นคำไพเราะ ที่หมายถึง
กระบวน การกลุ่มในการจัดการกับความขัดแย้งที่อาศัยบุคคลที่สามช่วยทำหน้าที่อำนวย การให้เกิดการพูดคุยสนทนากันระหว่างกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ความ ขัดแย้งที่มีความตึงเครียดทางอารมณ์เป็นส่วนประกอบใหญ่โดยมุ่งเน้นที่จะลด อคติอันเกิดจากผลของความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้เข้าร่วมกระบวนการ
(ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล 2547,23)
สานเสวนาเป็นคำที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า dialogue เดวิด โบห์ม1 (David Bohm) อธิบายว่าเป็นคำที่มาจากภาษาละติน dia+logos dia = ผ่าน (through) logos=คำพูด / ความหมาย (the word) logos ใน ที่นี้ หมายถึง "ความหมายของคำ "(the meaning of the word) เดวิด โบห์ม เปรียบว่า dialogue ให้ความหมายของคำที่ผ่านหรืออยู่ท่ามกลางคนหลาย ๆ คนนี้ เปรียบเหมือนภาพของ "แม่น้ำของความหมายที่ไหลไปล้อมรอบและผ่านสมาชิกและผู้ร่วมอยู่" (ในการสานเสวนา) นั้น (Bohm 1991,http://www.muc.de/~heuvel/dialogue/dialogue proposed_html) จากความหมายของ Dialogue ดังกล่าวนี้ ถ้านำมาใช้กับสถานการณ์ความขัดแย้งในขณะนี้ เรา จะเห็นภาพของ การเปิดพื้นที่ให้บุคคลต่าง ๆ ได้มีความสัมพันธ์ใหม่ในการฟังและพูดและมีวิธีที่จะสำรวจรากเหง้าของ เงื่อนไขปัจจัยของวิกฤตกาลความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นนั้น เป็นโอกาสให้บุคคลหลายฝ่ายได้มีโอกาสเปิดใจ พูดคุย แสดงความรู้สึก ตั้งคำถาม ตั้งความปรารถนา สังเกต และเรียนรู้ปรากฏการณ์เพื่อค้นหา "ความหมาย" ร่วมกัน ความหมายนั้น อาจนำไปสู่ความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาได้
หัวใจสำคัญของกระบวนการสานเสวนาตามทฤษฎีของเดวิด โบห์ม คือ การเปิดโอกาสให้มีการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) เป็นการฟังเพื่อเข้าใจความหมาย การสานเสวนาตามทฤษฎีของโบห์มนี้เป็นความกระหายอยากรู้เรื่องอย่างใจจดใจ จ่อ (suspension) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ "ความตั้งใจฟัง" (attention and listening) ในการสำรวจหาความหมายของผู้พูด เป็นความคิดที่ว่า ถ้าผู้พูด มีความตั้งใจที่กล่าวถึงสิ่งใด สิ่งหนึ่งด้วยอารมณ์ความรู้สึก พร้อม ๆ กับเสนอความคิดอันใดอันหนึ่ง และผู้พูดยังคงรักษาความตั้งใจ ในการกล่าวถึงสิ่งนั้นต่อไป กระบวนการของความคิดจะดำเนินไปได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น นั่นคือ ทั้งผู้พูดจะสามารถเข้าใจความหมายของสิ่งที่ตนพูด และผู้ฟังอาจเข้าใจสิ่งที่ตนได้ยิน อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
กระบวนการสานเสวนาไม่เหมือนกับการเจรจา เป็นกระบวนการที่อาศัยการฟังโดย “ ห้อยแขวนคำพิพากษา ” เป็นการไม่ด่วนตัวสินสิ่งที่ได้รับรู้ ด้วยความคิด ความเชื่อ หรือความรู้สึกของตน จนเบียดบังและมิได้รับฟังสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อออกมาอย่างครบถ้วน ลองคิดดูนะครับว่า หากเราต้องฟังคนที่เราเกลียดมากที่สุด เราจะรับรู้สิ่งที่เขาพยายามบอกได้สักกี่เปอร์เซนต์ หรือสิ่งที่เราได้รับรู้เป็นส่วนใหญ่นั้นเป็นเสียงที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา เองที่กำลังผรุสวาทด้วยอำนาจแห่งความเกลียดชัง
จะเห็นได้ว่ากระบวนการนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออย่างหนึ่งที่สำคัญมากเป็นตัวช่วย นั่นก็คือ “ สติ ” ทั้ง ผู้พูดและผู้ฟังจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำรงอยู่ด้วยความมีสติ เพราะหากเราขาดสติ ก็จะถูกเจ้าตัวกิเลสครอบงำทันที ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความรัก ความชื่นชม ศรัทธา หากการพูดหรือการฟังของเราดำรงอยู่บนฐานของสิ่งเหล่านี้ แน่นอนครับว่าข้อมูลที่ได้รับนั้น ย่อมเป็นข้อมูลที่มาจากใจของเราเป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้ผ่านการไตร่ตรองด้วยใจที่ใคร่ครวญเลย ตัวอย่างเช่น หากเราฟังคนที่เราศรัทธาและชื่นชมมากๆ ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะพูดอะไร หากเราขาดสติในการฟัง ไม่ว่าข้อมูลจะเป็นจริงหรือไม่ เราก็จะเชื่อข้อมูลเหล่านั้นทันทีโดยไม่มีข้อกังขา ในทางกลับกันหากเรากำลังฟังคนที่เราเกลียด ชิงชัง ไม่ว่าเขาผู้นั่นจะสื่อสารอะไรออกมา เราก็จะปิดหูปิดตา ไม่มีทางที่จะเชื่อคำพูดของเขาเหล่านั้น แม้ว่าข้อมูลจะเป็นความจริงก็ตาม จะเห็นได้ว่า “ การฟังด้วยใจที่เป็นกลาง ” มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ ณ ปัจจุบันนี้
กระบวน การเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นจะต้องใช้เวลา และความร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย ความขัดแย้งและความรุนแรงมิอาจลดลงได้ หากได้รับความร่วมมือแต่เพียงฝ่ายเดียว แน่นอนว่าผมเห็นด้วยกับการคัดค้านการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ และสร้างความทุกข์ให้กับคนไทย การนำผู้กระทำผิดมารับบทลงโทษตามกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์และไม่ถูกแทรกแซงเป็น เรื่องที่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง การชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และต้องดำรงอยู่บนหลักการอหิงสาอย่างแท้จริงโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นอีกเหมือนดังเช่นใน อดีต เพราะผลที่ได้รับมีแต่ความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด เขาเหล่านั้นก็เป็นพี่น้องคนไทยด้วยกัน เป็นเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมโลกใบเดียวกัน มีอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ ในตัวมนุษย์เรามีทั้งความเป็นเทวดาและสัตว์ร้าย เราไม่รู้ว่าสัตว์ร้ายมันจะออกมาเมื่อไร สิ่งหนึ่งที่เราสามารถกำหนดการแสดงออกอย่างเทวดาได้ก็คือ สติ ” ผมอยากให้ทุกฝ่ายและทุกคนดำรงอยู่ด้วยความมีสติให้มั่นไม่ว่าสถานการณ์มันจะ บีบคั้นเพียงใดก็ตาม สติสามารถที่จะช่วยเราได้เสมอ เพื่อเห็นแก่คนเฒ่าคนแก่ ลูกเด็กเล็กแดง ที่อดตาหลับขับตานอน เพื่ออุดมการณ์และความเชื่อของพวกเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ใด ฝ่ายใด และเห็นแก่ชะตากรรมของชาติไทยที่อยู่บนกำมือของพวกเราทุกคน
สุดท้ายนี้ผมขออนุญาตอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ในบางส่วนที่ว่า
"...ฉะนั้นก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่าน คือพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่า บ้าเลือด เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง
ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้ากัน แต่หันเข้าหากัน และสองท่าน เท่า กับเป็นผู้แทนฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร สำหรับให้ประเทศไทย ได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาได้ด้วยดี อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา..."
ขอจงมีสติและสันติในทุกหย่อมหญ้า
จิตวิญญาณทัศนาจ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น